วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

บทที่ 1
พื้นฐานของศาสนาคริสต์

“พระเจ้าและพระเยซู เกี่ยวข้องอะไรกับศาสนาคริสต์?”

ศาสนาคริสต์มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์นับตั้งแต่การสร้างโลก และจะไปจบสิ้นอย่างสมบูรณ์เมื่อถึงวาระสุดท้ายของโลก ในยุค “ฟ้าใหม่ แผ่นดินใหม่” พื้นฐานของศาสนาคริสต์ปรากฏในประโยคแรกของ “บทข้าพเจ้าเชื่อ” (The Creeds) ที่กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเชื่อถึงพระเป็นเจ้า” (I believe God) (CCC, 1994: 199) หรือ “ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระเป็นเจ้าทรงเป็นหนึ่งเดียว” (I believe in One God) (CCC, 1994: 200) นั่นหมายความว่า พื้นฐานของศาสนาคริสต์คือ “ความเชื่อในพระเจ้า”

1. ประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น : พระเจ้าเผยแสดงแผนการแห่งความรอดพ้น

จากบทข้าพเจ้าเชื่อ (The Creeds) แสดงให้เห็นว่าพื้นฐานของศาสนาคริสต์ คือ ความเชื่อในพระเจ้า ซึ่งพอสรุปได้ว่า (CCC, 1994: 27 – 73)

1.1 พระเจ้ามีอยู่และทรงสร้างสรรพสิ่งด้วยความรัก กล่าวคือ

1.1.1 พระเจ้ามีอยู่ ทรงสร้างสรรพสิ่ง ทรงใส่พระทัยและ “รัก” มนุษย์เป็นพิเศษ ทรงโปรดให้มนุษย์เป็น “ภาพลักษณ์” ของพระองค์ การเป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้าทำให้ชีวิตมนุษย์มีคุณค่าและความหมาย
1.1.2 มนุษย์มีอยู่และสามารถบรรลุถึงชีวิตนิรันดร (การมีอยู่แบบสมบูรณ์) อาศัยการมีชีวิตที่ขึ้นอยู่กับพระเจ้า ตอบรับที่จะสร้างความสัมพันธ์ “เป็นหนึ่งเดียว” กับพระเจ้า
1.1.3 พระเจ้าทรงทำ “สัญญา/พันธสัญญา” ทรงเรียกและประทาน “พระพรพิเศษ” เพื่อให้มนุษย์สามารถบรรลุถึงชีวิตนิรันดรของพระเจ้าได้

1.2 พระเจ้าเผยแสดง “แผนการของความรอดพ้น” โดย

1.2.1 พระเจ้าทรงเรียกและเผยแสดงตัวของพระองค์เองแก่มนุษย์อาศัยสรรพสิ่งและบางบุคคล (บางเชื้อชาติ)
1.2.2 พระเจ้าเผยแสดงตัวพระองค์เองอย่างชัดเจนที่สุดทาง “พระเยซูคริสตเจ้า” ผู้ทรงเป็น “สื่อกลางและความสมบูรณ์แห่งการเผยแสดงทั้งหมด” (CCC, 1994: 65)

1.3 พระเจ้ารับรองและโปรดให้มี “การถ่ายทอดการเผยแสดงแผนการแห่งความรอดพ้น” โดยผ่านทางพระคัมภีร์ในฐานะ “พระวาจาของพระเจ้า” และการตีความพระคัมภีร์ (โดยผ่านทางธรรมประเพณีและการสอนทางการของพระศาสนจักร )

1.4 มนุษย์สามารถบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้าได้ โดยการตอบรับแผนการแห่งความรอดจากพระเจ้า ด้วยความเชื่อในการเผยแสดงและปฏิบัติตามแผนการของพระองค์ ด้วยการ “ถวายสติปัญญาและน้ำใจของตนอย่างเต็มที่เพื่อแสดงคารวะต่อพระเจ้าผู้ทรงเผยความจริงและยอมรับการเผยแสดงของพระองค์ด้วยใจเสรี เราจะน้อมรับด้วยความเชื่อนี้ได้ก็จำเป็นต้องมีพระพรของพระเจ้าที่ประทานแก่เรา” (DV ,1965 :5)

พื้นฐานของศาสนาคริสต์จึงอยู่ที่ความเชื่อในพระเจ้าๆ ทรงทำ “พันธสัญญา” (Covenant)กับมนุษย์ ทางเปิดเผยสัจธรรมที่จะช่วยมนุษย์ไปสู่ความรอดพ้น (การบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า) พระเจ้าทรงสัญญาว่าจะทรงช่วยมนุษย์ให้พ้นทุกข์และได้รับความรอดนิรันดรในที่สุด ถ้าหากมนุษย์ซื่อสัตย์และปฏิบัติตามแนวทางของพระองค์ มนุษย์สามารถบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ (ความชอบธรรม) อาศัยพระพรแห่งความเชื่อที่พระเจ้าประทานให้ (Marty, 1974: 143) ด้วยความเชื่อดังกล่าวนี่เอง ชาวคริสต์จึงมองวิวัฒนาการของศาสนาคริสต์ในฐานะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์แห่งความรอด ซึ่งครอบคลุมไปถึงประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติทั้งหมดด้วย โดยถือว่าพระเจ้าเป็นผู้ให้กำเนิดแก่มนุษยชาติและทรงเป็นจุดหมายสุดท้ายที่มนุษยชาติกำลังมุ่งไปถึง (เสรี พงศ์พิศ. 2545: 2) และพระองค์ทรงจัดเตรียมจัดหา “วิธีการ” ต่างๆ เพื่อให้มนุษยชาติไปสู่ความรอดพ้น

2. ผู้เผยแสดงของพระเจ้า คือ พระเยซูคริสตเจ้า

ประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น ซึ่งเริ่มต้นจากการสร้างโลก (พระเจ้าทรงเป็นผู้เริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์กับมนุษย์) ได้พัฒนาขึ้นมาตามลำดับกาลเวลาในประวัติศาสตร์ของโลก พระองค์ทรงเริ่มต้นสถาปนาความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยการเปิดเผยสัจธรรมเกี่ยวกับตัวพระองค์เองให้มนุษย์รู้จักโดย ผ่านทาง “สื่อกลาง” ได้แก่ชนชาติที่พระองค์ทรงเลือกสรร (ชาวอิสราเอล) รวมทั้งเผยแสดงพระองค์เองผ่านทางบุคคลหรือสถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชาวอิสราเอล การเปิดเผยสัจธรรมเกี่ยวกับ พระเจ้าถึงขั้นสมบูรณ์ที่สุด เมื่อพระเยซูคริสตเจ้าทรงปรากฏเข้ามาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ในอดีต พระเจ้าทรงใช้ “สื่อกลาง” ในการเผยแสดงตัวของพระองค์ การเผยแสดงของพระเจ้ามีศูนย์กลางอยู่ที่การปรากฏมาของพระเยซูเจ้า ทั้งนี้ การเผยแสดงก่อนสมัยพระเยซูเจ้า ถือว่าเป็น “การเกริ่นนำ” หรือการเตรียมการสู่การเผยแสดงทางพระเยซูเจ้า “อย่าคิดว่าเรามาเพื่อลบล้างธรรมบัญญัติหรือคำสอนของบรรดาประกาศก เรามิได้มาเพื่อลบล้าง แต่มาทำให้สมบูรณ์” (มธ 5: 17) โดยทางพระเยซู เป็นพระเจ้าพระองค์เองที่เสด็จลงมาด้วยพระองค์เอง พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็น “หนทาง ความจริงและชีวิต” (ยน 14: 6) ที่นำมนุษยชาติไปสู่ความรอดพ้นเพื่อบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ (ชีวิตนิรันดร)

2.1 พระเยซูคริสตเจ้า เป็นพระเจ้าที่ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์

เหตุผลสำคัญที่สุดที่คริสตชนเชื่อว่า “พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นสื่อกลางและความสมบูรณ์ของการเผยแสดงทั้งหมด” (DV, 1965: 65) เนื่องจากพระองค์ทรงเป็น “พระเจ้าผู้บังเกิดเป็นมนุษย์” ดังนั้น พระองค์จึงทรงรู้จักตัวพระองค์เองมากที่สุด เพราะเหตุนี้เอง พระองค์จึงทรงเผยแสดงตัวของพระองค์เองให้มนุษยชาติรู้จักพระองค์ได้สมบูรณ์ที่สุด “ใครที่เห็นพระเยซูคริสตเจ้าก็เท่ากับเห็นพระบิดาด้วย” (ยน 14: 9)

2.2 พระเยซูคริสตเจ้า ทรงยืนยันว่า “พระเจ้ายังทรงรักมนุษย์”

ในประวัติศาสตร์การดำเนินชีวิตของพระเยซูเจ้า ทรงดำเนินชีวิตเป็นมนุษย์ “ตรัสกับมนุษย์อย่างเพื่อน” (DV, 1965: 2) ทรงประทับอยู่และแสดงความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ทรงเชื้อเชิญและรับมนุษย์เข้ามาสนิทสัมพันธ์กับพระองค์ ทรงสอนมนุษย์ให้เรียกพระเจ้าว่า “บิดา” (CCC, 1994: 66) จากพระวาจาและกิจการในการดำเนินชีวิตของพระเยซูเจ้านี่เองเป็นการยืนยันว่า พระเจ้ายังทรงซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญา พระองค์ยังทรงรักมนุษย์และยืนยันว่าจะทรงช่วยมนุษย์สู่การมีชีวิตที่สมบูรณ์

2.3 พระเยซูคริสตเจ้า เป็นผู้เผยแสดงลำดับสุดท้ายของพระเจ้า

ในฐานะที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงเผยแสดงพระเจ้าอย่างสมบูรณ์แก่มนุษย์จนสำเร็จลุล่วงไปแล้ว ดังนั้น “จะไม่มีการเผยแสดงอื่นอีกแล้ว” (CCC, 1994: 66) พระเจ้าเผยแสดงพระองค์อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ทางพระเยซูคริสตเจ้าสำเร็จไปแล้ว ดังนั้น “จะไม่มีการเผยแสดงอื่นใดอีกเลยหลังการเสด็จมาของ พระเยซูคริสตเจ้า” (CCC, 1994: 73) หมายความว่า “หลังจากที่พระเจ้าได้ตรัสหลายครั้งและด้วยวิธีต่าง ๆ .. ในลำดับสุดท้าย พระองค์ตรัสกับเราทางพระบุตร” (DV, 1965: 2) คือ พระเยซูคริสตเจ้านั่นเอง”

3. การถ่ายทอดการเผยแสดงของพระเจ้า

ศาสนาคริสต์สอนว่า หลังการปรากฏมาของพระเยซูคริสตเจ้า จะไม่มีการเผยแสดงอื่นใดอีกแล้ว คงมีแต่การถ่ายทอดความจริงที่พระเจ้าทรงเผยให้รู้สืบต่อกันมา (DV, 1965: 7) อันเป็นภารกิจที่ต่อเนื่องในการถ่ายทอดแก่ชนรุ่นหลังสืบต่อกันไป เพื่อให้ชนรุ่นหลังพระเยซูคริสตเจ้าจะได้ทราบแผนการแห่งความรอดพ้นที่พระองค์เผยแสดงแก่มนุษย์ เพื่อการบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ ซึ่งไม่ได้จำกัดเพียงเฉพาะชนชาติใดชาติหนึ่งเท่านั้น แต่ครอบคลุมมนุษยชาติทุกเชื้อชาติ ทุกยุคสมัย ตามคำสั่งของพระเยซูคริสตเจ้าที่ให้บรรดาสานุศิษย์ไปประกาศ “ข่าวดีแห่งความรอดพ้น” ซึ่งพระองค์ทรงมอบภารกิจในการประกาศข่าวดีนี้แก่บรรดาสานุศิษย์ของพระองค์แก่มนุษยชาติ “เพราะข่าวดีนั้นเป็นแหล่งที่มาของความจริงทั้งปวงที่นำความรอดพ้น (ชีวิตนิรันดร/ชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า) มาให้และเป็นระเบียบทางศีลธรรมสำหรับมนุษย์ทุกคน พร้อมกันนั้นต้องนำพระพรของพระเจ้ามาแบ่งปันให้มวลมนุษย์ด้วย” (DV, 1965: 2) บรรดาสานุศิษย์ต้องทำหน้าที่ถ่ายทอดข่าวดีนี้อย่างซื่อสัตย์ ด้วยการประกาศสอนด้วยวาจา ให้แบบฉบับและวางกฎเกณฑ์ถ่ายทอดสิ่งที่พวกท่านได้รับจากพระวาจา กิจการและจากการร่วมชีวิตอย่างใกล้ชิดกับพระเยซูเจ้า และที่สุด พวกท่านได้บันทึก “ข่าวดีแห่งความรอดพ้น” เป็นลายลักษณ์อักษร ภายใต้การดลใจของพระเจ้า (พระจิตเจ้า) นอกจากนั้น เพื่อเป็นการรักษาและถ่ายทอด “ความจริง” อย่างซื่อสัตย์ ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน บรรดาสาวก (อัครสาวก) ได้แต่งตั้งและมอบตำแหน่งหน้าที่สั่งสอนที่พวกท่านได้รับจากพระเยซูคริสตเจ้าแก่ผู้สืบทอด (ลูกศิษย์ของสาวกของพระเยซูคริสตเจ้า) ต่อไป

สิ่งที่บรรดาสานุศิษย์ของพระเยซูคริสตเจ้าได้แต่งตั้งและมอบหน้าที่ให้ลูกศิษย์ของพวกท่านต่อไป ได้แก่ คำเทศน์สอนของพวกสาวกที่มีบันทึกไว้อย่างพิเศษในหนังสือที่ได้รับการดลใจจาก พระเจ้า (พระคัมภีร์) และธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งหมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ช่วยให้มนุษยชาติได้ดำเนินชีวิตที่สามารถบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า (ชีวิตนิรันดร) ได้แก่ “คำสั่งสอน การดำเนินชีวิตและคารวกิจ สงวนรักษาทุกสิ่งที่ตนเป็นและเชื่อนั้นไว้ให้ถาวรตลอดกาลและถ่ายทอดให้ชนทุกรุ่น ทุกอายุขัย” (DV, 1965: 8)

ดังนั้น การถ่ายทอดการเผยแสดงของพระเจ้า (หลังการปรากฏมาของพระเยซูคริสตเจ้า) จึงออกมาในรูปของพระคัมภีร์และการตีความ/อธิบายพระคัมภีร์

3.1 พระคัมภีร์คริสตชน

3.1.1 คุณค่าและความหมาย

พระคัมภีร์ศาสนาคริสต์ มีชื่อว่า “Bible” แปลว่า “หนังสือ” คำว่าไบเบิ้ลจึงหมายถึง “หนังสือหลายเล่ม” (The Books) เนื่องจากพระคัมภีร์คริสตชนประกอบด้วยหนังสือหลายเล่มที่รวมเป็นเล่มเดียว คริสตชนเชื่อว่าพระคัมภีร์เป็นหนังสือศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระวาจาของพระเจ้า (The World of God) ที่ได้ตรัสกับมนุษย์ด้วยวิธีการต่างๆ ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เป็นหนังสือที่นำเสนอความจริงเรื่องพระเจ้า มนุษย์และโลก เกี่ยวกับความเป็นมา จุดหมายและความหมายของชีวิต โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มนุษย์ไปถึงความรอดพ้นหรือไปสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า พระคัมภีร์เป็นหนังสือศักดิ์สิทธิ์เพราะพระเจ้าดลใจผู้เขียน (Inspiration) ให้ถ่ายทอดสิ่งที่พระองค์ทรงต้องการเปิดเผยให้มนุษย์ทราบ “พระเจ้าทรงเลือกสรรมนุษย์และทรงใช้เขาให้เขียนโดยใช้กำลังและความสามารถของตน” (DV, 1965: 11) และ “พระเจ้าคือผู้ประพันธ์พระคัมภีร์...ทรงประทานแรงบันดาลใจแก่มนุษย์ผู้ประพันธ์พระคัมภีร์.. โดยการใช้ความสามารถของเขาและวิธีการของเขาอย่างเต็มที่” (ทัศไนย์ คมกฤส, 2529: 13) พระคัมภีร์เป็นหนังสือของพระเจ้าก็จริง แต่ก็เป็นหนังสือของมนุษย์ด้วยเช่นกัน กล่าวคือ พระเจ้าทรงดลใจให้มนุษย์ (ผู้เขียน) นำเสนอสิ่ง ที่พระองค์มีพระประสงค์ให้เขาเขียน ตามรูปแบบ/วิธีการที่ผู้เขียนนำเสนอ

พระคัมภีร์ถือว่าเป็นพื้นฐานคำสอนของศาสนาคริสต์ คริสตชนให้ความเคารพพระคัมภีร์ในฐานะเป็นพระวาจาของพระเจ้า จนถึงกับว่า “ใครไม่รู้จักพระคัมภีร์ ก็เท่ากับไม่รู้จัก พระคริสตเจ้า” (DV, 1965: 25)

3.1.2 องค์ประกอบ (สารบบ) ของพระคัมภีร์

พระคัมภีร์ไบเบิ้ลแบ่งออกได้ 2 ภาค โดยมีพระเยซูคริสตเจ้าเป็นเส้นแบ่ง ภาคแรกเป็นหนังสือที่เขียนก่อนสมัยพระเยซูเจ้า เราเรียกว่า “พันธสัญญาเดิม” (Old Testament) ภาคที่สองเป็นหนังสือที่เขียนหลังพระเยซูเจ้าบังเกิด เราเรียกว่า “พันธสัญญาใหม่” (New Testament) แม้ว่าพระคัมภีร์จะแบ่งออกเป็นสองภาค แต่ก็เป็นเอกภาพเดียวกัน โดย “เอกภาพของพระคัมภีร์ทั้งพันธสัญญาเดิม และพันธสัญญาใหม่ เกิดจากเอกภาพแห่งแผนการของพระเจ้า... พันธสัญญาเดิมเป็นการเตรียม พันธสัญญาใหม่ ในขณะที่พันธสัญญาใหม่ทำให้พันธสัญญาเดิมสำเร็จไป ทั้งพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ต่างก็ให้ความสว่างแก่กันและกัน พระคัมภีร์ทั้งสอง คือ พระวาจาที่แท้จริงของพระเจ้า” (CCC, 1994: 140)

ก. พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม

คริสตชนยอมรับพระคัมภีร์ของศาสนายิว (ยูดาห์) มาเป็นส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์ พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมบันทึกเรื่องราวของชาติอิสราเอลหรือยิวนับตั้งแต่อับราฮัมซึ่งเป็นบรรพบุรุษต้นตระกูล เรื่อยมาจนถึงราวกลางศตวรรษที่ 2 ก่อน ค.ศ. แต่กระนั้นพันธสัญญาเดิมก็มิใช่พงศาวดารของชาติอิสราเอลทีเดียว เพราะลำดับเหตุการณ์ที่เล่าไว้ยังมีเว้นช่องว่างไว้หลายตอน ชาติอิสราเอลเป็นชาติเล็กๆ ที่ไม่มีความสำคัญอะไรเลยก็ว่าได้ทางการเมือง แต่ก็มีความสำคัญมากในแผนการของพระเจ้า เพราะเป็นชาติที่พระองค์ทรงเลือกสรรไว้ให้เป็นบรรพบุรุษของพระเยซูคริสตเจ้า (ทัศไนย์ คมกฤส, 2529: 13) พันธสัญญาเดิมส่วนใหญ่เขียนเป็นภาษาฮีบรู มีบางตอนเขียนเป็นภาษาอาราเมอิค ซึ่งเป็นภาษาเซมิติกอีกภาษาหนึ่งคล้ายกับภาษาฮีบรู นอกนั้นยังมีบางเล่มเขียนเป็นภาษากรีก พันธสัญญาเดิมประกอบด้วยหนังสือจำนวน 46 เล่ม (สำหรับคาทอลิกและ/หรือ จำนวน 39 เล่ม สำหรับโปรแตสเตนต์) ได้แก่ (CCC, 1994: 120)

1) ปฐมกาล (ปฐก) 17) โทบิต* 34) ดาเนียล
2) อพยพ (อพย) 18) ยูดธ* 35) โฮเชยา
3) เลวีนิติ (ลวต) 19) เอสเธอร์ 36) โยเอล
4) กันดารวิถี (กดว) 20) มัคคาบี ฉบับที่ 1* 37) อาโมส
5) เฉลยธรรมบัญญัติ 21) มัคคาบี ฉบับที่ 2* 38) โอบาดีย์
6) โยชูวา 23) เพลงสดุดี 39) โยนาห์
7) ผู้วินิจฉัย 24) สุภาษิต 40) มีคาห์
8) นางรูธ 25) ปัญญาจารย์ 41) นาฮูม
9) ซามูแอล ฉบับที่ 1 26) เพลงซาโลมอน 42) ฮะบากุก
10) ซามูลแอล ฉบับที่ 2 27) ปรีชาญาณ* 43) เศฟันยาห์
11) พงศ์กษัตริย์ฉบับที่ 1 28) บุตรสิรา* 44) ฮักกัย
12) พงศ์กษัตริย์ฉบับที่ 2 29) อิสยาห์ 45) เศคาริยาห์
13) พงศาวดารฉบับที่ 1 30) เยเรมีย์ 46) มาลาคี
14) พงศาวดารฉบับที่ 2 31) เพลงคร่ำครวญ
15) เอสรา 32) บารุค*
16) เนหะมีย์ 33) เอเสเคียล

(*เป็นหนังสือที่คาทอลิก จัดให้อยู่ในสารบบพระคัมภีร์ ในขณะที่โปรแตสเตนต์ ถือว่าหนังสือเหล่านี้ไม่อยู่ในสารบบพระคัมภีร์ แต่อยู่ในหนังสือประเภท “นอกสารบบพระคัมภีร์” )

ข. พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่

พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ คือ หนังสือจำนวน 27 เล่มที่กล่าวถึงคำสอนและกิจการสำคัญๆ ของพระเยซูคริสตเจ้า ประวัติศาสนาคริสต์ในยุคเริ่มต้น รวมถึงจดหมายจากสาวก (ของพระเยซูคริสตเจ้า) บางองค์ที่เขียนถึงกลุ่มคริสตชนต่างๆ หนังสือเล่มสุดท้ายที่เรียกว่า “วิวรณ์” (Revelation) กล่าวถึงชัยชนะและความสำเร็จตามแผนการของพระเจ้า ซึ่งถือเป็นการให้ความหวังแก่มนุษย์ทุกคน ส่วนสำคัญที่สุดของพันธสัญญาใหม่ คือ พระวรสาร ในฐานะเป็นหัวใจของพระคัมภีร์ทั้งหมด เพราะเป็นพยานสำคัญถึงพระชนมชีพและคำสั่งสอนของพระเยซูคริสตเจ้า (CCC, 1994: 125) หนังสือพันธสัญญาใหม่ทั้ง 27 เล่ม เขียนเป็นภาษากรีกทั้งหมด (ทัศไนย์ คมกฤส, 2529: 14) ได้แก่ (CCC, 1994: 120)

1) พระวรสารโดยนักบุญมัทธิว (มธ) 15) จดหมายถึงทิโมธี 1 (1 ทธ)
2) พระวรสารโดยนักบุญมาร์โก (มก) 16) จดหมายถึงทิโมธี 2 (2 ทธ)
3) พระวรสารโดยนักบุญลูกา (ลก) 17) จดหมายถึงทิตัส (ทต)
4) พระวรสารโดยนักบุญยอห์น (ยน) 18) จดหมายถึงฟิเลโมน (ฟม)
5) กิจการอัครสาวก (กจ) 19) จดหมายถึงชาวฮีบรู (ฮบ)
6) จดหมายถึงชาวโรม (รม) 20) จดหมายของนักบุญยากอบ (ยก)
7) จดหมายถึงชาวโครินทร์ 1 (1 คร) 21) จดหมายของนักบุญเปโตร 1 (1 ปต)
8) จดหมายถึงชาวโครินทร์ 2 (2 คร) 22) จดหมายของนักบุญเปโตร 2 (2 ปต)
9) จดหมายถึงชาวกาลาเทีย (กท) 23) จดหมายของนักบุญยอห์น 1 (1 ยน)
10) จดหมายถึงชาวเอเฟซัส (อฟ) 24) จดหมายของนักบุญยอห์น 2 (2 ยน)
11) จดหมายถึงชาวฟิลิปปี (ฟป) 25) จดหมายของนักบุญยอห์น 3 (3 ยน)
12) จดหมายถึงชาวโคโลสี (คส) 26) จดหมายของนักบุญยูดาห์ (ยด)
13) จดหมายถึงชาวเธสะโลนิกา 1 (1 ธส) 27) วิวรณ์ (วว)
14) จดหมายถึงชาวเธสะโลนิกา 2 (2 ธส)

3.2 การตีความและการอธิบายพระคัมภีร์

การถ่ายทอดการเผยแสดงของพระเจ้าทางพระเยซูคริสตเจ้า (ประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น ที่พระเจ้าสัญญาจะช่วยมนุษย์ให้บรรลุถึงการมีชีวิตนิรันดร) มีหลักการและพื้นฐานอยู่ที่ “พระคัมภีร์” (Bible) ในฐานะที่พระคัมภีร์เป็นพระวาจาของพระเจ้า พระคัมภีร์เป็นเหมือนกับ หลักการและคู่มือสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า เป็นมรดกที่พระเจ้าประทานแก่มนุษย์ ดังนั้น การรักษาความจริง รวมทั้งการตีความและการอธิบายพระคัมภีร์จึงต้องมีการกระทำอย่างรอบคอบและได้รับความเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพราะเป็นพื้นฐานของหลักคำสอน วิถีชีวิต พิธีกรรมและแนวปฏิบัติของชีวิตคริสตชน ดังนั้น “ผู้ตีความพระคัมภีร์จะต้องรู้ชัดเจนว่าพระเจ้ามีพระประสงค์จะสื่ออะไรกับเขา จึงต้องพิจารณาด้วยความเอาใจใส่ว่าผู้เขียนพระคัมภีร์ต้องการจะให้ข้อความที่เขียนนั้นมีความหมายว่าอย่างไร และพระเจ้ามีพระประสงค์จะแสดงสิ่งใดโดยใช้ถ้อยคำของผู้เขียน” (DV, 1965: 12) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินตามแนวทางที่สาวกของพระเยซูคริสตเจ้าได้เริ่มต้นไว้ ซึ่งถือเป็นแนวทางการตีความและการอธิบายพระคัมภีร์หรือที่เรียกว่า “ธรรมประเพณี” (The Tradition) (DV, 1965: 8) ที่สืบทอดจากอัครสาวก ซึ่งได้มอบอำนาจไว้กับผู้สืบตำแหน่งของพวกท่าน (CCC, 1994: 85) ซึ่งมีพระพรของพระเจ้ามารับประกันความจริงที่ประกาศสอน มีผลทำให้มนุษยชาติได้รู้ เข้าใจและสามารถปฏิบัติตามแผนการของพระเจ้าได้อย่างถูกต้อง

3.2.1 ธรรมประเพณี (Tradition)

หมายถึง การอธิบายและการถ่ายทอดพระวาจาของพระเจ้า ด้วยวาจา ข้อเขียนและ วิถีปฏิบัติของอัครสาวก อันเป็นการถ่ายทอดอย่างมีชีวิตชีวา โดยอาศัยการนำของพระเจ้า พระคัมภีร์และธรรมประเพณีจึงมีความเกี่ยวข้องกันและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน เพราะทั้งสองมาจากพระเจ้า มีจุดกำเนิดและมุ่งไปสู่จุดหมายเดียวกัน เพราะพระคัมภีร์คือพระวาจาของพระเจ้าที่ได้รับการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรโดยการดลใจของพระเจ้า ส่วนธรรมประเพณีถ่ายทอดพระวาจาของพระเจ้า ที่พระเยซู คริสตเจ้าทรงมอบไว้ให้กับสาวก และมอบแก่ผู้สืบตำแหน่งของท่านอย่างครบครัน เพื่อใช้รักษาประกาศ อธิบายและเผยแผ่พระวาจาของพระเจ้าไปทั่วทุกแห่งหน (DV, 1965: 9) และอาศัยธรรมประเพณีนี้เอง ทำให้ชีวิต คริสตชนดำเนินต่อไปอย่างมีชีวิตชีวา ตามแนวทางของหลักคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้า พร้อมทั้งการถ่ายทอดความเชื่อที่ตนเองได้รับมาแก่ชนทุกยุคสมัย

ธรรมประเพณีนี้มีลักษณะต่าง ๆ กัน ได้แก่ ธรรมประเพณีด้านเทววิทยา ด้านระเบียบวินัย ด้านพิธีกรรมหรือด้านกิจศรัทธา ซึ่งเกิดขึ้นตามกระแสแห่งกาลเวลาและสถานที่ ธรรมประเพณีนี้ มีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานที่และยุคสมัยต่าง ๆ ทั้งนี้ภายใต้อำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักร (CCC, 1994: 83)

3.2.3 อำนาจการสอนทางการของพระศาสนจักร

หมายถึง ภาระหน้าที่ในการอธิบายความอย่างถูกต้องเกี่ยวกับพระวาจาของพระเจ้าและธรรมประเพณี ซึ่งอำนาจนี้กระทำในนามของพระเยซูคริสตเจ้าซึ่งมอบไว้แก่บรรดามุขนายกที่ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับทายาทของนักบุญเปโตร หรืออีกนัยหนึ่งคือ มุขนายก/ผู้นำพระศาสนจักรแห่งโรม คือ พระสันตะปาปา (CCC, 1994: 85) ผู้มีอำนาจสั่งสอนในพระศาสนจักรนั้น ใช้อำนาจซึ่งได้รับมาจากพระเยซูคริสตเจ้าอย่างเต็มที่ เมื่อต้องนิยามหรืออธิบายข้อความเชื่อ (CCC, 1994: 88) โดยถือว่าอำนาจการสอนทางการนี้ไม่ผิดพลาด อำนาจการสอนทางการของพระศาสนจักร จึงเป็นที่มาของระเบียบแบบแผนของข้อความเชื่อในคริสต์ศาสนา

4. สรุป

พี้นฐานของศาสนาคริสต์ คือ ความเชื่อในพระเจ้า ว่าพระองค์ทรงมีอยู่และทรงสร้างสรรพสิ่ง ด้วยความรัก พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ให้มีความพิเศษ ในฐานะเป็น “ภาพลักษณ์ของพระเจ้า” และพระองค์ทรงทำพันธสัญญากับมนุษย์ว่าจะทรงประทานพระพรให้มนุษย์มีชีวิตที่สมบูรณ์ โดยการบรรลุถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า และพระองค์ย้ำเตือนและเสด็จลงมาเป็นมนุษย์ทางพระเยซูคริสตเจ้า เพื่อช่วยมนุษย์ให้บรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า และพระองค์ทรงมอบภารกิจแห่งการประกาศข่าวดีแห่งความรอดนี้แก่มนุษยชาติผ่านทางคริสตชน

“ความเชื่อในพระเจ้า” เป็นพี้นฐานที่ทำให้คริสตชนมองว่าชีวิตมนุษย์มีคุณค่าและความหมาย ทำให้คริสตชนเข้าใจประวัติศาสตร์มนุษยชาติว่าไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่สิ้นหวังหรือไร้ความหมาย แต่มีลักษณะเป็น “ประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น” ที่มีพระเจ้ามาเกี่ยวข้องในประวัติศาสตร์ของมนุษย์